21:31
0
กว่าจะฝ่าฟันมาจนได้งานทำได้ คงจะเหนื่อยกันพอดู บางรายอาจต้องวิ่งหากันไปหลายที่ กว่าจะลงเอยได้ที่นี้ เมื่อได้งานกันแล้ว สิ่งที่ทำให้กังวลใจก็คงเป็นเรื่องสถานที่ทำงานใหม่กระมัง

วันแรกของการทำงาน


          เราคงอดใจไม่ได้ที่จะคิดว่า เจ้านายจะเป็นคนอย่างไร เพื่อนร่วมงานจะดีหรือไม่ จะเข้ากับเพื่อนๆ ได้หรือป่าว แล้วโต๊ะทำงานของเราจะน่าพอใจแค่ไหน เรื่องที่จะคิดเรียกได้ว่ามีร้อยแปดพันเรื่องเลยทีเดียว
          "การทำงานวันแรก มีความสำคัญทั้งต่อตัวผู้ทำงานและต่อองค์กร" ถ้าหากวันแรกได้พบเจอสิ่งที่ดี ๆ หรือเรื่องที่น่าประทับใจ คงทำให้มีกำลังใจในการทำงาน แต่ถ้าดันไปพบเจอการไม่ต้อนรับ ทั้งเรื่องคนหรือสถานที่ ก็ทำให้หดหู่พาลไม่อยากทำงานได้เหมือนกัน
          "เตรียมตัวทำงาน" สำหรับผู้ที่เป็นพนักงานใหม่เอี่ยม คงจะต้องเตรียมทั้งตัว และทั้งใจในการที่จะพบสิ่งใหม่ๆ โดยมีขั้นตอนง่ายๆ ที่อยากแนะนำ ดังนี้
  1. ตระเตรียมเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย แน่ล่ะว่า แต่ละคนนั้นมีสไตล์การแต่งตัวที่ไม่เหมือนกัน ผู้หญิงบางคนชอบกระโปรงยาว แล้วแบบไหนล่ะจึงจะดีกว่ากันๆ เรื่องนี้ก็คงจะขึ้นอยู่กับที่ทำงาน และลักษณะงานที่คุณจะไปทำ หากเป็นโรงเรียนก็ต้องใส่ชุดที่ดูเรียบร้อย อาจจะเป็นกระโปรงที่ไม่สั้นจนเกินไป แต่หากเป็นงานประชาสัมพันธ์ ก็ต้องแต่งตัวให้เตะตาเข้าไว้บ้าง ถ้าจะให้ดีอาจไปด้อมๆ มองๆ ดูสักนิดว่า ที่ทำงานของเรานั้นเขาแต่ง ตัวกันอย่างไร เราจะสามารถเลือกการแต่งกายได้ถูก และเหมาะสมยิ่งขึ้น ในระยะแรกนั้นต้องแต่งตัวตามทิศทางลมกันก่อน แล้วต่อไปจึงค่อยๆ ปรับเอาสไตล์ของตนเองมาผสมผสานกับวัฒนธรรมเรื่องการแต่งตัวของบริษัทเราก็ได้ เพราะอย่าลืมว่า อิมเพรสชั่น(impression) ของเจ้านายและเพื่อนร่วมงานที่พบในครั้งแรกนั้นมีความสำคัญมากทีเดียว ถ้าเด่นจนเกินไป อาจถูกเขม่นเอา แต่หากเหมาะสมดี ก็อาจเป็นที่ชื่นชอบไปเลยก็ได้
  2. เรียนรู้งานที่จะทำ ควรจะต้องรีบเรียนรู้ว่า เมื่อตนมาอยู่ในตำแหน่งนี้ มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง บริษัทหลายๆ แห่งจะมี Job description แจกให้แก่พนักงานใหม่ ซึ่งข้อมูลตรงนั้นจะช่วยได้มาก แต่ถ้าหากไม่มีก็คงต้องถามไถ่ หัวหน้าละครับว่า จะต้องทำอะไรบ้าง หัวหน้ามีความคาดหวังต่อผม (ดิฉัน) อย่างไรบ้าง อย่างนี้จะทำให้ง่ายต่อการนำไปปฏิบัติ และเมื่อทราบแล้ว ทำความเข้าใจให้ดีอย่างละเอียด ถี่ถ้วน แล้วจดบันทึกเอาไว้เพื่อใช้เตือนความจำ
  3. รู้สไตล์การทำงานเรื่องนี้คล้ายๆ กับเรื่องการแต่งตัว มักเป็นเรื่องวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของบริษัท บางที่อาจทำงานอย่างรวดเร็ว สั่งปุ๊บได้ปั๊บทันใจ แต่ในบางแห่งเอาแบบช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม (มักเป็นระบบราชการ) บางที่ก็ชอบพิธีรีตอง จะส่งจดหมายภายในกันเอง ต้องร่างตามแบบฟอร์มเสียทุกเรื่องทุกครั้งไป แต่บางแห่งก็กันเอง คือสามารถเขียนเป็นข้อความสั้นๆ ส่งได้เลย รู้อย่างนี้ก็ต้องปรับตัวให้เข้ากันได้ด้วย
  4. สร้างสัมพันธภาพการทำงานนั้นมักจะต้องประสานกับผู้อื่นจึงจะทำได้สำเร็จ หรือมีความสะดวกราบรื่นขึ้นเพราะฉะนั้น สัมพันธ์ภาพที่ดี ไม่ว่าจะเป็นในแง่เพื่อนร่วมงาน หรือเพื่อนสนิทก็จะทำให้งานมีประสิทธิภาพอย่างที่เราต้องการ ในที่ทำงานเราจำเป็นต้องหมั่นสร้างสัมพันธภาพเอาไว้ ใช้หลักง่ายๆ ว่า"ยิ้มแย้มแจ่มใส โอภาปราศรัย มีน้ำใจและไมตรี"คือ ต้องรู้จักยิ้มแย้มแสดงความมีมิตรจิตกับเพื่อนร่วมงาน มีการแนะนำตัวให้เขารู้จัก พูดคุยสร้างความสนิทสนม มีเรื่องใดที่สามารถช่วยเหลือได้ก็ควรทำทันที สิ่งเหล่านี้จะทำให้ตัวเรา และผู้ร่วมงานของเรา มีความรู้สึกที่ดีต่อกัน จึงทำงานได้อย่างมีความสุข สบายใจ
  5. จดบันทึกการทำงานของคุณเพื่อเป็นข้อมูลว่า ตัวคุณได้มีผลงานอะไรบ้าง งานแต่ละชิ้นสำเร็จลุล่วงดีหรือไม่ มีข้อผิดพลาดและวิธีแก้ไขในครั้งต่อไปอย่างไร ความก้าวหน้าของฝีมือมีเพิ่มขึ้นอย่างไร เป็นต้น วิธีการนี้ สามารถใช้เป็นข้อมูลป้อนกลับ (Feed Back) เพื่อตรวจดูการทำงานของท่านเองว่าเป็นอย่างไรบ้าง สามารถทำงานบรรลุจุดประสงค์ตามที่มุ่งหวังไว้ได้มากแค่ไหน? และข้อมูลนี้ยังสามารถส่งให้หัวหน้า เพื่อเป็นการตรวจเช็ค และแสดงผลงานของท่านให้หัวหน้าเห็นอย่างชัดเจน ดีไม่ดี ท่านอาจได้รับผลดีตอบแทน เช่น ได้เลื่อนขั้น ขึ้นเงินเดือน เพราะบันทึกนี้ก็เป็นได้
  6. ทำให้ดีที่สุดทำให้เต็มความสามารถ อย่าเก็บ (ดอง) งานไว้นาน หรือทำเพื่อให้ผ่านพันไปในวันๆ หนึ่ง และต้องหัดเปิดใจกว้างยินดีรับคำแนะนำหรือคำตำหนิจากหัวหน้าหรือเพื่อนรวมงานที่หวังดี อาจจะต้องปรับปรุงการทำงานบ้างโดยมุ่งหวังให้งานของเรานั้นสอดคล้องและดำเนินตามนโยบายของบริษัท เชื่อได้ว่า หากตั้งใจทำงานเต็มที่ และหมั่นพัฒนาการทำงานแล้ว ย่อมประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น